สงครามที่ขยายตัว (พ.ศ. 2513 – 2514) ของ สงครามกลางเมืองกัมพูชา

ฝ่ายตรงข้าม

หลังรัฐประหาร ลน นลได้นำกัมพูชาเข้าสู่สงคราม เขาได้พยายามติดต่อกับนานาชาติ รวมทั้งสหประชาชาติเพื่อให้สนับสนุนรัฐบาลใหม่ มีปฏิบัติการทางทหารเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กองทัพของฝ่ายรัฐบาลที่เรียกว่ากองทัพแห่งชาติเขมร (FANK) ทหารส่วนใหญ่มาจากชาวกัมพูชาในเขตเมือง ซึ่งเข้าร่วมกับรัฐบาลใหม่หลังการโค่นล้มพระนโรดม สีหนุ กองทัพขยายตัวขึ้นมากจากจำนวนผู้สมัคร แต่การฝึกทักษะใดๆยังไม่เพียงพอ ทำให้กองทัพไม่มีความเข้มแข็งมากนัก ระหว่าง พ.ศ. 2517 – 2518 กองทัพของฝ่ายรัฐบาลได้เพิ่มจำนวนจาก 100,000 คนจนถึง 250,000 คน กองทัพสหรัฐได้สนับสนุนอาวุธและยุทโธปกรณ์ให้กัมพูชา และส่งเจ้าหน้าที่ 113 คนเข้ามาในพนมเปญใน พ.ศ. 2514

ปัญหาอีกประการของกองทัพฝ่ายสาธารณรัฐเขมรคือการฉ้อราษฎร์บังหลวง มีทหารผีที่ไม่มีตัวตนแต่ได้รับเบี้ยเลี้ยง และนำอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนไปขายในตลาดมืด ลน นลจะสั่งการไปยังทหารระดับปฏิบัติการโดยตรง แต่ไม่ได้สนใจสถานะที่แท้จริงของกองทัพ ทหารส่วนใหญ่สู้รบอย่างกล้าหาญในครั้งแรกๆ แต่ค่อยๆลดลงเมื่อได้รับค่าตอบแทนต่ำจนไม่พอใช้จ่ายในครอบครัว

กองทัพเขมรแดงได้รับการสนับสนุนส่วนใหญ่จากจีน ในช่วง พ.ศ. 2513 – 2515 เป็นช่วงที่มีการปรับองค์กร ตั้งแต่ พ.ศ. 2515 – 2517 เป็นช่วงที่เริ่มจัดตั้งพื้นที่ปลดปล่อยในเขตชนบท เขมรแดงเริ่มมีปัญหากับพระนโรดม สีหนุและผู้สนับสนุน และตั้งแต่ พ.ศ. 2517 – 2518 เขมรแดงเริ่มเปลี่ยนแปลงประเทศด้วยความรุนแรง

การรุกรานกัมพูชาของเวียดนามเหนือ

ในวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2513 เวียดนามเหนือได้ส่งทหารรุกเข้าไปในกัมพูชาเพื่อต่อต้านรัฐบาลใหม่ของกัมพูชาที่นิยมตะวันตก โดยกล่าวว่าเป็นการรุกเข้าไปตามคำร้องขอของนวนเจีย ผู้นำเขมรแดง ทหารเวียดนามเดินทัพผ่านกัมพูชาตะวันออกไปอย่างรวดเร็ว จนอีก 24 กิโลเมตรจะถึงพนมเปญจึงถูกผลักดันให้ถอยกลับมา ทหารของเขมรแดงมีบทบาทน้อยมากในการนี้

ในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2513 รัฐบาลเวียดนามใต้และสหรัฐได้เสนอยุทธการกัมพูชา โดยรัฐบาลสหรัฐจะต้องดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาในด้านเป็นการสร้างเกราะกำบังด้านหลังให้กับการถอนทหารสหรัฐ เพื่อทำลายระบบและทหารของเวียดนามเหนือ เป็นการทดสอบนโยบายการทำให้เป็นเวียดนาม และเป็นการส่งสัญญาณไปถึงรัฐบาลเวียดนามเหนือ เมื่อสหรัฐส่งทหารเข้าไปในกัมพูชา เวียดนามเหนือได้ประกาศยุทธการ X เพื่อต่อสู้กับฝ่ายสาธารณรัฐเขมรตามคำร้องขอของเขมรแดง และเพื่อป้องกันระบบและการขนส่งของตนในกัมพูชา ในเดือนมิถุนายนกองทัพเวียดนามเหนือรบชนะฝ่ายสาธารณรัฐเขมรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชา ในขณะที่เขมรแดงได้จัดตั้งพื้นที่ปลดปล่อยทางใต้และตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งเป็นอิสระจากเวียดนามเหนือ

เจนละ 2

ในคืนวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2514 กองกำลังของเวียดกงและเวียดนามเหนือได้โจมตีสนามบินโปเชนตงซึ่งเป็นสนามบินหลักของฝ่ายสาธารณรัฐเขมรจนได้รับความเสียหายมาก แต่สหรัฐก็รีบส่งความช่วยเหลือมาทันที สองสัปดาห์ต่อมา ลน นลป่วยต้องไปรักษาตัวที่ฮาวาย ก่อนจะรีบกลับในอีก 2 เดือนต่อมา

ต่อมาในวันที่ 20 สิงหาคม ฝ่ายสาธารณรัฐเขมรได้จัดตั้งปฏิบัติการเจนละ 2 ซึ่งเป็นการรุกครั้งแรกของปี จุดประสงค์หลักคือเพื่อเปิดเส้นทางหมายเลข 6 ไปยังกำปงธม ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับที่สองและถูกปิดกั้นจากเมืองหลวงไปกว่าปี ในช่วงแรกปฏิบัติการประสบความสำเร็จ สามารถเข้าถึงเมืองได้ กองทัพเวียดนามเหนือและเขมรแดง โจมตีกลับมาอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมและยึดเมืองกลับไปได้ ความพ่ายแพ้ในปฏิบัติการเจนละ 2 ทำให้เขมรแดงและเวียดนามเหนือเป็นฝ่ายรุกโดยสมบูรณ์

ใกล้เคียง

สงครามโลกครั้งที่สอง สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามเวียดนาม สงครามกลางเมืองอเมริกา สงครามแปซิฟิก สงครามเกาหลี สงครามอ่าว สงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง สงครามครูเสด สงครามกัมพูชา–เวียดนาม